เส้นเลือดขอดเป็นปัญหาที่น่าหนักใจสำหรับใครหลายคน เกิดจากการที่หลอดเลือดดำขยายตัว และขดไปมา เนื่องจากหลอดเลือดบริเวณขามีแรงดันมากกว่าปกติจากการนั่งหรือยืนเป็นเวลานานจึงเกิดเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงนูนขึ้นตามอวัยวะต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะบริเวณต้นขาและน่อง ทำให้หลายๆคนรู้สึกเสียความมั่นใจ
สาเหตุ และอาการเส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอด เกิดจากหลอดเลือดดำที่มีลิ้น( Valve ) เปิดและปิดเพื่อให้เลือดไหลไปสู่หัวใจในทิศทางเดียว หากลิ้นปิดไม่สนิทจะทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปสะสมคั่งในหลอดเลือดและทำให้เกิดเส้นเลือดขอดขึ้น ซึ่งพบบ่อยที่บริเวณขา มีลักษณะเหมือนใยแมงมุมขนาดเล็ก (Spider Veins) ส่วนมากจะเป็นสีแดงและสีฟ้า หรือเป็นเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่เป็นรอยนูนและขดไปมา เป็นสีฟ้าหรือม่วงเข้ม บางคนอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวด คัน หรือหนักขา
เส้นเลือดขอดมักจะพบในผู้ที่มีปัจจัย ดังนี้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โรคอ้วน ผู้ที่ยืน หรือนั่งในท่าเดิมๆเป็นประจำ
- อายุมากขึ้น
- ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย
- โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ท้องผูกเรื้อรัง และเนื้องอก แต่พบได้น้อยมาก
- พันธุกรรม
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่
เส้นเลือดขอดรักษายังไง?
เส้นเลือดขอดสามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเส้นเลือดขอดเพิ่มขึ้นได้ แต่คนที่มีอาการรุนแรงและเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
1. การดูแลตัวเอง
การปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเองเพื่อลดอาการและป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอด มีดังนี้
- ยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ ทำวันละ 3–4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5–15 นาที และใช้หมอนรองขาขณะนั่งหรือนอน
- บริหารข้อเท้าและขาบ่อย ๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินหรือว่ายน้ำ
- ไม่ควรยืนหรือนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่ควรนั่งไขว้ขา
- หลีกเลี่ยงการสวมกางเกงหรือกระโปรงที่คับหรือรัดบริเวณขามากเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
- ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ควบคุมปริมาณและประเภทของอาหาร และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง
- ทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง
2. ใส่ถุงน่องสำหรับรักษาเส้นเลือดขอด
ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้สวมถุงน่องทางการแพทย์สำหรับรักษาเส้นเลือดขอด (Compression Stockings) ไว้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะเวลานั่งทำงานหรือยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน ถุงน่องจะช่วยบีบให้เลือดเคลื่อนตัวกลับสู่หัวใจได้ดี ช่วยลดอาการบวมและลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขา
3. การรักษาด้วยวิธีอื่น
ผู้ที่ใช้วิธีการดูแลตัวเองและใช้ถุงน่องรัดขาแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่
- การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำบริเวณที่ขอด (Sclerotherapy) โดยสามารถรักษาเส้นเลือดขอดขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อให้เส้นเลือดขอดยุบตัว
- การรักษาด้วยเลเซอร์ โดยใช้การยิงแสงเลเซอร์ไปที่เส้นเลือดขอด ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด จึงไม่ทำให้เกิดบาดแผลและรักษาได้อย่างรวดเร็ว
- การใช้เลเซอร์ความร้อน หรือคลื่นความถี่วิทยุ ด้วยการสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดดำและให้ความร้อนที่ปลายท่อ เพื่อทำให้เส้นเลือดขอดยุบตัว